
นายเมธินท์ ภาสพานทอง | 10 มิถุนายน 2567 | เวลาอ่าน 3 นาที
7 เคล็ดลับบริหารธุรกิจครอบครัว ให้ประสบความสำเร็จ

ธุรกิจในรูปแบบครอบครัว หรือ Family Business คือรูปแบบธุรกิจที่มีการสืบต่อจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง หรือมีหุ้นส่วนมากในบริษัทเป็นของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งมองเผินๆ อาจดูเป็นเรื่องที่ง่ายดายในการบริหารกิจการ แต่จริงๆ แล้วก็มีเรื่องท้าทายหรือปัญหาสุดหลากหลายให้ต้องรับมือเช่นเดียวกัน ในบทความนี้ เราจะพาไปเรียนรู้ถึงปัญหา รวมถึงเคล็ดลับในการบริหารธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จกัน
ปัญหาของธุรกิจครอบครัว มีอะไรบ้าง
จากข้อมูลของ Harvard Business Review พบว่ามีธุรกิจครอบครัวเพียงแค่ 10% เท่านั้น ที่สามารถส่งต่อไปถึงรุ่นที่ 3 ได้ นั่นเป็นเพราะปัญหาหรืออุปสรรคที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น
-
ครอบครัวโตเร็วกว่าธุรกิจ ทำให้มีตำแหน่งผู้บริหารไม่เพียงพอกับสมาชิก
-
มีปัญหาเรี่องความคิดที่ไม่ตรงกัน จากหลายๆ คนที่มีศักดิ์เป็น ‘เจ้าของธุรกิจ’
-
อยู่กันอย่างครอบครัว ทำให้พนักงานไม่ได้พัฒนา หรือตนเองไม่ได้พัฒนา จนตามคู่แข่งไม่ทัน
-
สมาชิกรุ่นผู้ใหญ่อยู่ดูแลธุรกิจไปเรื่อยๆ ทำให้ไม่มีการวางแผนการส่งต่อที่ชัดเจน และไม่มีแนวคิดใหม่ๆ ในการบริหารกิจการ
หากอยากให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จและเดินหน้าไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงต้องมีการปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตามเคล็ดลับที่เราแนะนำดังต่อไปนี้
1. ยึดหลักการดำเนินธุรกิจที่ตกลงร่วมกัน
การสร้างข้อตกลงหรือหลักการดำเนินธุรกิจร่วมกัน ถือเป็นสิ่งที่ธุรกิจทุกประเภทควรให้ความใส่ใจ เช่นเดียวกับธุรกิจแบบครอบครัวที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย เพราะถือเป็นการเพิ่มความสามารถของธุรกิจในแง่ของการแข่งขัน พร้อมทำให้สมาชิกทุกคนเดินหน้าไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันได้ หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ก็ควรใช้หลักการดำเนินธุรกิจที่กำหนดไว้มาเป็นเครื่องมือช่วยตัดสินปัญหาต่างๆ
รวมไปถึงการทำธุรกิจแบบกงสีขนาดใหญ่ ก็ต้องมีกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนภายในครอบครัวเช่นเดียวกัน ซึ่งหลายครอบครัวที่ทำธุรกิจแบบกงสีนิยมสร้างธรรมนูญครอบครัว ที่เปรียบเสมือนบันทึกข้อตกลงร่วมกันของคนในครอบครัว เกี่ยวกับการวางแผนและจัดการเรื่องต่างๆ ไปจนถึงเรื่องของธุรกิจครอบครัว โดยในธรรมนูญครอบครัว มักประกอบด้วย วิสัยทัศน์และพันธกิจ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว นโยบายการเข้าทำงานของสมาชิกในธุรกิจครอบครัว และหัวข้ออื่นๆ ตามที่แต่ละครอบครัวตกลงกัน
สำหรับธรรมนูญครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญในธุรกิจกงสีในยุคปัจจุบัน เพราะถือเป็นสิ่งที่กำหนดกฎ กติกา และเงื่อนไขในการทำงานร่วมกัน ทำให้มีส่วนช่วยในการลดปัญหาของสมาชิกรุ่นต่อๆ ไปที่จะเข้ามาสืบทอดธุรกิจของครอบครัว
2. หาทายาทหรือคนนอกมาสืบต่อให้เหมาะสมที่สุด
การส่งต่อธุรกิจครอบครัวแบบรุ่นสู่รุ่น ควรเริ่มต้นให้รวดเร็วและมีการวางแผนที่ดี ผ่านการวางตัวผู้นำเอาไว้ พร้อมปลูกฝังประสบการณ์ด้วยการให้เริ่มเรียนรู้จากจุดเล็กๆ ภายในบริษัท เพื่อสะสมความรู้และต่อยอดสู่อนาคต อีกทั้งธุรกิจครอบครัวมักมีการแต่งตั้งสมาชิกให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ซึ่งจริงๆ แล้วถือเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องมีการกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจน พร้อมการพิจารณามอบตำแหน่งให้เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว
นอกจากนี้การเลือกใช้ทีมบริหารที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ หากธุรกิจครอบครัวสามารถหาคนที่มีความสามารถและประสบการณ์อัดแน่นให้เข้ามาช่วยบริหารได้ ก็จะช่วยให้แผนงานของธุรกิจมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น พร้อมทั้งการได้รับไอเดียใหม่ๆ ที่บางครั้งคนในครอบครัวอาจมองข้ามไป
3. เปิดกว้างทางความคิด
แม้การดำเนินธุรกิจแบบรุ่นสู่รุ่นจะมีแต่คนในครอบครัว แต่ความขัดแย้งก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ จากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน รวมไปถึงช่องว่างระหว่างวัย ทักษะ และประสบการณ์ต่างๆ ดังนั้นสมาชิกทุกคนควรเปิดกว้างทางความคิด ยอมรับไอเดียของแต่ละคน เคารพความเห็นที่แตกต่าง และร่วมกันทำความเข้าใจว่า บางครั้งวิธีการบริหารแบบเดิมๆ ในอดีต อาจไม่ช่วยให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จเสมอไป
4. นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจ
เมื่อธุรกิจครอบครัวได้ส่งต่อมายังสมาชิกรุ่นใหม่ แน่นอนว่าพวกเขาย่อมเป็นวัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ เป็นอย่างดี ดังนั้นผู้บริหารที่เป็นผู้ใหญ่ควรต้องเปิดรับในเรื่องนี้ และให้ความไว้วางใจสมาชิกรุ่นใหม่ในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจ เช่น การทำการตลาดแบบออนไลน์ เพื่อช่วยทำให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น หรือการใช้โซเชียลมีเดียในการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และการนำเทคโนโลยีอย่าง AI เข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจ เป็นต้น
5. ดูแลและพัฒนาศักยภาพคนในองค์กร
แม้จะเป็นธุรกิจในครอบครัว แต่เราเชื่อว่าในบริษัทของคุณก็จะต้องมีพนักงานในตำแหน่งต่างๆ ที่เป็นคนนอกด้วยเช่นกัน ดังนั้นการดูแลพวกเขาให้ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กร เช่น การอบรมในหลักสูตรต่างๆ การจัดคอร์สเสริมทักษะ หรือทุนการศึกษาเพิ่มเติม เป็นต้น เพื่อให้พนักงานนำความรู้ที่ได้ กลับมาช่วยพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
6. สร้างความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงให้ธุรกิจ
การที่สมาชิกในครอบครัวรุ่นใหม่ๆ เข้ามาสืบทอดกิจการนั้น มักมาพร้อมกับความคิดแปลกใหม่ที่ไม่เหมือนคนรุ่นเก่า หนึ่งในนั้นคือการเปิดรับความท้าทายและเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขยายตลาดใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสเติบโตให้กับธุรกิจ รวมไปถึงการสร้าง Business Line หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเป็นการขยายธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
7. ให้ความสำคัญกับสังคมส่วนรวม
แน่นอนว่าการดำเนินธุรกิจทุกประเภทล้วนต้องแสวงหาผลกำไรด้วยกันแทบทั้งสิ้น แต่การให้ความสำคัญกับสังคมส่วนรวมก็ถือเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาธุรกิจในทางอีกหนึ่งด้วยเช่นกัน แถมยังเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนภายนอกได้รู้จักกับองค์กรของคุณมากขึ้น ซึ่งธุรกิจสามารถทำได้โดยการบริจาคเงินหรือสิ่งของให้กับมูลนิธิต่างๆ แบบเป็นครั้งคราว หรือแม้กระทั่งการกำหนดให้เรื่องนี้เป็นพันธกิจหลักขององค์กร โดยเน้นทำกิจกรรมแบบ CSR มากยิ่งขึ้น
ส่วนอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจคือการดำเนินธุรกิจแบบ ESG ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับปัจจัยหลัก 3 อย่าง ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยในปัจจุบัน ESG ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก เพราะถือเป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้พิจารณาเรื่องการลงทุน โดยสิ่งที่ธุรกิจจะได้รับกลับมาจากแนวคิดนี้ นั่นก็คือความน่าเชื่อถือและแสดงถึงความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สรุปเคล็ดลับการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้ประสบความสำเร็จ
ทุกการดำเนินธุรกิจย่อมมีปัญหาหรืออุปสรรคด้วยกันแทบทั้งนั้น เช่นเดียวกับธุรกิจครอบครัวที่มักมีเรื่องช่องว่างระหว่างวัยเข้ามาปัญหาด้วย ดังนั้นสมาชิกทุกคนในธุรกิจครอบครัวจึงต้องมีการปรับตัวเข้าหากัน หาพื้นที่ตรงกลางในการบริหารงานร่วมกันให้ได้ ผสานกับเรื่องของการสื่อสารที่ดี เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นไปได้อีกนานเท่านาน
ที่มา: บทวิเคราะห์ของ MultiPrime Consulting
โพสต์ล่าสุด